ไหงงั้น! สหรัฐฯ ขวางยูเครนเป็นสมาชิกนาโต้ ปฏิเสธโรดแมปที่เสนอโดยพันธมิตรยุโรป
สหรัฐฯ ตีกลับความพยายามของบรรดาพันธมิตรยุโรปบางส่วนที่จะเสนอ “โรดแมป” สำหรับการเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ของยูเครน ณ ที่ประชุมซัมมิตของพันธมิตรทหารแห่งนี้ในเดือนกรกฎาคม ความเคลื่อนไหวที่เผยให้ถึงความแตกแยกในเหล่าชาติตะวันตก เกี่ยวกับสถานะหลังสงครามของเคียฟ
อเมริกา เยอรมนี และฮังการีขัดขืนความพยายามของชาติต่างๆ เช่น โปแลนด์และเหล่าประเทศในแถบบอลติก ที่เสนอให้เคียฟมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกับนาโต้ และออกถ้อยแถลงอย่างชัดเจนว่าสนับสนุนสถานภาพสมาชิกในอนาคตของยูเครน หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ส รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ 4 คนที่เกี่ยวข้องกับการพูดคุยหารือ
ร่องรอยแห่งความแตกแยกปรากฏชัดขึ้นในที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของนาโต้ในบรัสเซลส์ เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ ในขณะที่บรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐสมาชิกจะใช้เวลาในอีก 2 เดือนข้างหน้า ทำการพูดคุยเจรจากัน ก่อนหน้าการประจำของซัมมิตของพวกผู้นำ ในกรุงวิลนีอุส เมืองหลวงของลิทัวเนีย ในเดือนกรกฎาคม
การพูดคุยหารือเกิดขึ้นท่ามกลางเสียงเตือนจากประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ที่บอกว่าเขาจะเข้าร่วมการประชุมก็ต่อเมื่อมีการนำเสนอถึงความก้าวหน้าที่จับต้องได้ในเรื่องของการเป็นสมาชิกนาโต้ เช่น คำรับประกันความมั่นคงหลังสงครามจากบรรดาชาติสมาชิก หรือยกระดับความร่วมมือแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกับพันธมิตร
ในปี 2008 นาโต้เห็นพ้องกันว่าในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ยูเครนจะกลายมาเป็นชาติสมาชิก ทว่านับตั้งแต่นั้นไม่ได้ความคืบหน้าใดๆ ทั้งนี้ในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นสหรัฐฯ เองที่เรียกร้องให้นาโต้อนุมัติกรอบเวลาการเข้าร่วมอย่างเป็นรูปธรรมแก่ยูเครน ที่เรียกว่า Membership Action Plan แต่ ฝรั่งเศส และ เยอรมนี ตีกลับข้อเสนอดังกล่าว ท่ามกลางความกังวลว่ามันจะเป็นการยั่วยุรัสเซีย
ยูเครนยื่นใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกนาโต้อย่างเป็นทางการเมื่อปีที่แล้ว ตามหลังการรุกรานของรัสเซีย เช่นเดียวกับฟินแลนด์และสวีเดน โดยที่ ฟินแลนด์ ได้รับการรับรองเข้าร่วมเป็นสมาชิกพันธมิตรทหารแห่งนี้อย่างเป็นทางการ เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา
เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต้ เมื่อเดือนที่แล้ว นำเสนอชาติสมาชิกด้วยร่างเอกสารคร่าวๆ ในข้อเสนอทั้งทางปฏิบัติและทางการเมืองสำหรับยูเครน ในนั้นรวมถึงการชี้แนะให้ออกแถลงการณ์รอบใหม่ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างยูเครนกับนาโต้ เพิ่มเติมจากถ้อยแถลงของปี 2008
บรรดาผู้แทนทูตที่เกี่ยวข้องกับการพูดคุยในช่วงกลางสัปดาห์ เผยว่า เหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศของนาโต้มีการโต้เถียงกันอย่างจริงจังระหว่างการประชุมในบรัสเซลส์ เกี่ยวกับข้อเสนอใดที่ควรมอบแก่เคียฟ โดยบรรดาพันธมิตรมีความเห็นแตกต่างกันในความต้องการของพวกเขา สวนทางกับท่าทีที่เป็นหนึ่งเดียวกันอย่างกว้างขวางของนาโต้ นับตั้งแต่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย สั่งให้เปิดฉากรุกรานยูเครนเต็มรูปแบบในเดือนกุมภาพันธ์ปีก่อน
“เราได้มีการเจรจาอย่างยากลำบากล่วงหน้ามานานหลายสัปดาห์ เพื่อปิดช่องว่างความเห็นต่างเหล่านั้น และเพื่อก่อผลลัพธ์ทางการเมือง” เจ้าหน้าที่ตะวันตกรายหนึ่งกล่าว
ทุก 31 ชาติสมาชิกของพันธมิตรเห็นพ้องกันว่าการเป็นสมาชิกนาโต้ของยูเครน ไม่ใช่ทางเลือกในระยะอันใกล้นี้ และไม่อาจพูดคุยหารือกันอย่างจริงจังท่ามกลางสงคราม แต่แหล่งข่าว 2 คนที่เข้าร่วมการประชุมในสัปดาห์นี้ เผยว่ามีสมาชิกเพิ่มมากขึ้นที่สนับสนุนข้อเสนอมอบ “เส้นทางทางการเมือง” สำหรับการเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ของยูเครน ณ ที่ประชุมซัมมิตในกรุงวิลนีอุส ซึ่งจะทำให้พันธผูกพันระหว่างนาโต้กับเคียฟแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวบอกว่า สหรัฐฯ เตรียมกลับข้อเสนอดังกล่าว ขณะที่เจ้าหน้าที่ตะวันตกอีกคนเสริมว่า “ถนนที่มุ่งหน้าสู่วิลนีอุส ยังคงเต็มไปด้วยโขดหิน”
อเมริกาเรียกร้องให้พันธมิตรยังคงมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการมอบความช่วยเหลือด้านการทหาร การเงินและมนุษยธรรมแก่ยูเครนในระยะสั้นแทน เพื่อช่วยเคียฟต้านทานและท้ายที่สุดก็ขับไล่การรุกรานของรัสเซีย ทั้งนี้เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ บอกว่าแรงสนับสนุนในทางปฏิบัติต่างๆ อย่างเช่นการส่งมอบกระสุน ควรเป็นเป้าหมายหลักของการประชุมในวิลนีอุส และการหารือใดๆ เกี่ยวกับความเป็นไปได้ของความสัมพันธ์ทางการเมืองในยุคหลังสงคราม อาจก่อความไขว้เขวจากเป้าหมายดังกล่าว
วอชิงตันมีความกังวลว่าการยกระดับความสัมพันธ์ใดๆ ระหว่างสงครามอาจเติมเชื้อไฟแก่นิยายของปูติน ที่กล่าวอ้างว่ามันเป็นการสู้รบกันระหว่างรัสเซียกับนาโต้ และมอสโกอาจใช้ข้ออ้างนี้โหมกระพือสถานการณ์ความขัดแย้งให้ลุกลามบานปลาย ในนั้นรวมถึงความเป็นไปได้ในการใช้อาวุธนิวเคลียร์
หนึ่งในหลายทางเลือกที่อยู่ภายใต้การพิจารณาคือ การอัปเกรดคณะกรรมการนาโต้-ยูเครน เป็นคณะมนตรีนาโต้-ยูเครน ก้าวย่างที่จะยกระดับสถานะของยูเครน เป็นพันธมิตรหนึ่งของนาโต้ ทำให้เคียฟมีส่วนร่วมในการประชุมและการปรึกษาหารือต่างๆ ของนาโต้มากยิ่งขึ้น ในนั้นรวมถึงรายงานสรุปด้านข่าวกรอง
เซเลนสกี บอกกับบรรดาผู้นำนาโต้ว่าเขาจะร่วมประชุมในวิลนีอุส ก็ต่อเมื่อพันธมิตรเตรียมพร้อมสำหรับความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ในด้านความร่วมมือร่วมกันกับเคียฟ และบอกว่าเขามีความตั้งใจพูดคุยเกี่ยวกับการรับประกันด้านความมั่นคงแห่ยูเครน แทนการเป็นสมาชิกพันธมิตรเต็มตัว
อัพเดทข่าว เพิ่มเติม : ทุนนอกเข้าไทย 2 เดือน โต 3 เท่าตัว ทะลุ 2.6 หมื่นล้านบาท