แก้หนี้ครัวเรือนฉบับ “ธปท.” ลดหนี้เดิม
แก้หนี้ครัวเรือนฉบับ “ธปท.” ลดหนี้เดิม-ห้ามออกสินเชื่อหนุนก่อหนี้เกินตัว
ธปท.เปิดแนวทางแก้หนี้ครัวเรือน 3 ด้าน ลดหนี้เดิม สินเชื่อใหม่ที่มีคุณภาพ อัปเกรดความรู้การเงิน จ่อห้ามออกผลิตภัณฑ์การเงินที่กระตุ้นให้คนก่อหนี้เกินตัวไตรมาสแรกปีหน้า พร้อมขอให้แบงก์นำร่องช่วยให้เอกชนสู่ “ธุรกิจสีเขียว” ต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานการเงินดิจิทัล ส่วน virtual bank ได้เห็นแน่ ปี 67
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายเสถียรภาพสถาบันการเงิน เปิดเผยว่า แนวทางดำเนินการของธปท.ในช่วงต่อไปในการดูแลลูกหนี้ สถาบันการเงิน และระบบการเงินไทย เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่องนั้น จะทำใน 3 ด้านคือ ด้านที่ 1 ดูแลการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งสัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง 88% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาส 2 ของปีนี้ ขณะที่ยังมีกลุ่มเปราะบางที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 ซึ่งยังมีลูกหนี้ส่วนหนึ่งที่รายได้ยังไม่กลับมา หรือลูกหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเปราะบาง และผู้มีรายได้น้อย
โดยในส่วนนี้ ธปท.จะแก้ไขผ่านการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งจะทำผ่าน 3 แนวทางคือ การลดหนี้เดิมผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ในรูปแบบและมาตรการต่างๆที่ ธปท.และสถาบันการเงินดำเนินการมาตลอด แนวทางที่ 2 ปรับการให้สินเชื่ออย่างมีคุณภาพ โดยจะดูแลไม่ให้สถาบันการเงินออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อลูกหนี้ หรือกระตุ้น และเพิ่มโอกาสก่อหนี้เกินตัว ซึ่งเกณฑ์จะออกไตรมาสแรกปีหน้า และแนวทางที่ 3 ให้ความรู้ทางการเงินที่เพิ่มขึ้นกับประชาชน เพื่อให้เข้าใจทั้งความจำเป็นในการออม และการก่อหนี้ที่เหมาะสมกับตัวเอง
ขณะเดียวกันยังมีเกณฑ์ที่อยู่ระหว่างพิจารณาความเหมาะสมของช่วงเวลาที่จะนำออกใช้ คือ เกณฑ์การให้สินเชื่อที่มีคุณภาพมากขึ้น โดยการปล่อยสินเชื่อในอนาคต ต้องดูขีดความสามารถการชำระหนี้ของลูกหนี้ด้วยว่าควรให้มีรายได้สุทธิหลังการมีหนี้แล้วเท่าไร ซึ่งต้องมีเพียงพอในการดำรงชีพ ไม่ให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ และสังคม เพราะลูกหนี้บางรายผ่อนหนี้แต่ละเดือนเท่ากับหรือมากกว่ารายได้ แต่การใช้มาตรฐานนี้ ต้องดูเวลาที่เหมาะสม จะลดวงเงินให้กู้ทันทีคงไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจขณะนี้ยังต้องการการฟื้นตัว ธุรกิจและประชาชนต้องการสภาพคล่องเพิ่ม
ส่วนด้านที่ 2 คือ การปรับตัวของธนาคาร และภาคธุรกิจเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว (กรีน อีโคโนมี) และรับมือกับกฎระเบียบใหม่ๆ ซึ่ง ธปท.และสถาบันการเงินจะเข้าไปมีส่วนร่วม โดยเรื่องที่ 1 ธปท.ร่วมกับสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อเพื่อการปรับตัวเข้าสู่ธุรกิจสีเขียว และความยั่งยืน ผ่านวงเงินสินเชื่อฟื้นฟูของ ธปท. รวมทั้งสร้างแรงจูงใจผ่านการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อการปรับตัวเข้าสู่ธุรกิจสีเขียว เรื่องที่ 2 ออกมาตรฐานเบื้องต้นของข้อมูลบริษัทในการดูแลสิ่งแวดล้อมในไตรมาส 4 ปีนี้ และมีมาตรฐานการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในไตรมาส 1 ปี 66
เรื่องสุดท้าย คือ การสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานการเปิดเผยข้อมูล เพื่อให้ธุรกิจและสถาบันการเงินใช้สร้างมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อต่อธุรกิจในอนาคต โดยเริ่มที่ภาคธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงก่อน คือ อุตสาหกรรมขนส่งและพลังงาน โดยเกณฑ์นี้จะออกไตรมาสแรกปีหน้า และต่อไปเป็นอุตสาหกรรมอาหาร และธุรกิจ การเกษตร ฯลฯ
สำหรับด้านที่ 3 คือ วางโครงสร้างพื้นฐานระบบการเงินเพื่อตอบโจทย์ระบบการเงินดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนได้ใช้บริการทางการเงิน และสินเชื่อผ่านระบบดิจิทัลที่ง่ายและสะดวกมากขึ้น ผ่านการชำระเงิน โอนเงินผ่านดิจิทัลทั้งในประเทศ และลดค่าใช้จ่ายการโอนเงินระหว่างประเทศ และสุดท้าย สร้างระบบการเปิดเผยข้อมูลระหว่างสถาบันการเงิน เพื่อเพิ่มความสะดวกของลูกค้าในการทำธุรกรรมทางการเงินข้ามธนาคาร ขณะเดียวกัน จะให้อนุญาต virtual bank ใหม่ในปี 67 เพื่อเพิ่มช่องทาง การเข้าถึงระบบการเงินของคนไทย รวมถึงจะเปิดโอกาสให้ผลิตภัณฑ์ทาง การเงินดิจิทัลใหม่เข้ามาทดสอบก่อนเริ่มออกให้บริการจริงได้ใน Sand box ตลอดเวลา.